Wednesday, February 18, 2015

คิดว่ามันง่ายหรืออย่างไร ที่จะมีหัวใจจิตอาสา ?

"นุ่น" พัชญา สาทา หรือที่เพื่อนๆ รู้จักกันในนามของ "นุ่นอาสา" เธอคือ 1 ในผู้นำองค์กรนิสิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นั่นก็คือชมรมอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็น 1 องค์กรที่ช่วยขับเคลื่อนกลไกความมีจิตอาสาในตัวของนิสิตที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้มีจิตสำนึกต่อสาธารณะ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนในสังคม อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งกว่าที่ นุ่น พัชญา สาทา จะสามารถมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้นั้นไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ เลย เธอต้องผ่านบททดสอบทั้งร่างกายและแรงใจจากรุ่นพี่หลายๆคนในชมรม อีกทั้งในส่วนของการไปค่ายอย่างสม่ำเสมอซึ่งเธอก็ทำได้เป็นอย่างดี ไม่ได้ขาดตกบกพร่อง จนถึงวันที่เลือกตั้งประธานชมรม ทุกๆคนก็ได้ไว้วางใจในการคัดเลือกให้เธอเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนชมรมอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าประธานชมรม

วันนี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์เธอถึงแรงบันดาลใจในการทำงานจิตอาสาและพูดคุยถึงปัญหาต่างๆที่เธอได้พบเจอแล้วอยากจะแก้ไขให้ดีขึ้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้นติดตามอ่านกันได้เลยครับ

ประวัติส่วนตัว
ชื่อจริง พัชญา นามสกุล สาทา ชื่อเล่น นุ่น เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2536 เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเอกภาษาไทย(กศ.บ.) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานชมรมอาสาพัฒนามหาวิทยาลัศรีนครินทรวิโรฒ

1.ทำไมถึงอยากทำงานจิตอาสา ?
ก่อนหน้านี้ที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ไม่เคยรู้ตัวเองเลยว่าชอบทำกิจกรรมหรือทำค่ายในรูปแบบนี้ รู้แค่ว่าตัวเองจะเป็นขี้สงสารเพราะเพื่อนบอกว่าเราชอบให้เงินเวลามีคนที่เขาเป็นขอทานมาขอ เราก็จะให้โดยไม่คิดให้ดีก่อนว่าเขาเป็นคนพิการจริงๆหรือเป็นแค่มิจฉาชีพ พอเราเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีหนึ่งต้นเทอมแรกเลยรุ่นพี่ที่เรียนวิชาเอกเดียวกันเขาก็ชวนให้เราไปค่ายเพื่อนใหม่ซึ่งเป็นค่ายแรกของชมรมอาสาพัฒนา มศว เราก็ได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมต่างๆภายในค่ายไม่ว่าจะเป็นเทพื้นถนนให้โรงเรียน จัดกิจกรรมให้กับเด็ก ทำให้เรารู้สึกว่ากิจกรรมพวกนี้มันก็สนุกดีและก็มีประโยชน์กับคนอื่นด้วย โดยเราก็สังเกตจากรอยยิ้มของเด็กๆที่เราไปทำกิจกรรมร่วมกับเขา ในวันที่พวกเราจะออกมาจากค่ายเด็กๆก็วิ่งมากอดเราและก็ร้องไห้ ถามว่าเราจะกลับมาหาพวกเขาอีกไหม เราก็รู้สึกตกใจเหมือนกันนะที่อยู่ดีๆคนที่พึ่งจะมารู้จักกันไม่กี่วัน เราร้องไห้ให้กันได้ด้วยหรอมันคงเป็นความรู้สึกอะไรสักอย่างที่ดีมากแน่ๆที่พวกเรายังมีการโบกรถกันไปเซอร์เวย์ค่ายตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีคนไทยอีกมากมายที่มีน้ำใจ อีกทั้งเพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ในชมรมเวลามีปัญหาอะไร เราไม่เพียงช่วยกันแค่เพียงเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวเวลามีอะไรเราปรึกษากันได้ มิตรภาพที่เกิดขึ้นและความประทับใจต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งการได้แบ่งปันสิ่งดีๆให้คนที่ขาดโอกาส มันทำให้ฉันอยากทำงานอาสา แม้ว่าเราจะเรียนจบไปแล้วก็คิดไว้ด้วยว่ายังจะทำกิจกรรมแบบนี้ต่อไป นอกจากนี้แล้วการมาค่ายอาสามันทำให้เรารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง ทั้งคณะเดียวกันและต่างคณะกัน มันเป็นมิตรภาพที่ดีมากๆ พอกลับออกมาจากค่ายพวกเราก็ชวนกันไปเที่ยวบ้าง กินข้าวด้วยกันบ้าง สิ่งเหล่านี้มันทำให้ฉันมีความสุขทำให้ฉันอยากไปค่ายอีกครั้งอยากรู้จักเพื่อนเยอะๆ พอค่ายต่อไปที่ไป พี่ที่เขาเป็นกรรมการชมรมก็มาขอให้เราไปช่วยทำกิจกรรมในค่าย ไปเป็นอนุกรรมการนั่นเป็นงานแรกในชมรมอาสาที่เราได้ทำ หลังจากนั้นเราก็ได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการของชมรมอย่างเต็มตัว เราไปค่ายทุกค่ายของชมรมไม่เคยขาด ในแต่ละค่ายจะมีปัญหาต่างกัน แต่ละปัญหามันสอนให้เราโตขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น มีความคิดรู้จักแก้ไขปัญหามากขึ้นและการทำงานร่วมกับคนอื่นนั้นมันสอนให้ฉันลดความเป็นตัวตนและรับฟังความเห็นของคนอื่นมากขึ้น นอกจากนี้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆมากมายจากชมรม เช่น การเซอร์เวย์ค่าย


2.ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการทำงาน ?
ปัญหาที่สำคัญ คือปัญหาเรื่องงบประมาณของการทำค่ายอาสาในแต่ละครั้ง งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนนั้นได้มาไม่เพียงพอ พวกเราจึงต้องช่วยกันในการหาทุนเพื่อสนับสนุนให้การจัดค่ายแต่ละครั้งให้มีเงินหรือวัสดุต่างๆเพียงพอ ในการที่พวกเราจะเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆ  วิธีการหาทุนในการช่วยเหลือก็มีหลายทางทั้งการหาผู้สนับสนุนจากทางบริษัทสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆรวมไปถึงการเล่นกีตาร์เปิดกล่องขอรับบริจาคเงินตามสถานที่ต่างๆ การที่พวกเราทำเช่นนี้ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่เห็นด้วยเขาก็จะให้ความช่วยเหลือเรา คนละเล็กคนละน้อย คนไหนไม่ได้เดินมาบริจาคเงินก็เดินมาคุยด้วยให้กำลังใจก็มี พวกเราก็เก็บเอาสิ่งดีๆเหล่านั้นมาเป็นแรงใจในการทำงานไม่เก็บเอาความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วยมาบั่นทอนการทำงานช่วยเหลือสังคมของพวกเราเอง

เรื่องที่สองคือการทำงานค่ายอาสาในแต่ละครั้งไม่เพียงแต่ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่เป็นนิสิตเท่านั้นยังต้องทำงานร่วมกับองค์กรอื่นในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงแค่การรวมกลุ่มกันไปหาโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือแล้วไปทำค่ายกันได้เลย ต้องมีการเขียนเอกสารขออนุมัติโครงการและงบประมาณหรือหนังสือขออนุญาตพานิสิตที่เข้าร่วมโครงการของเราออกนอกสถานที่อีกเป็นต้น บางครั้งก็จะเกิดความล่าช้าบ้างโดยส่วนใหญ่ก็จะมีสาเหตุมาจากที่คนในชมรมยังบริหารเวลาในการจัดการงานไม่ดี เพราะทุกคนที่มาทำงานรวมกันนี้ ก็ต่างมีภาระงานอื่นๆที่เป็นหน้าที่ของตนเอง แต่ในทุกๆครั้งพวกเราก็จะช่วยเหลือกันจนงานสำเร็จไปได้ด้วยดี

ส่วนปัญหาอื่นๆในการทำงานร่วมกันอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่พวกเราก็จะหันหน้าคุยกันและรักษามิตรภาพที่ดีของพวกเราไว้ได้เหมือนเดิม


3.สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการทำงานจิตอาสา ?
ประสบการณ์ในการทำงานจากค่ายที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียน การทำงานของตนเองได้เป็นอย่างดี และมิตรภาพจากเพื่อนร่วมงานที่ดีมาก และสุดท้ายก็คือความสุขใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น


4.จิตอาสากับสังคมโลก ในฐานะที่เรากำลังจะเปิดอาเซียน จิตอาสามีผลอย่างไรบ้าง ?
การทำงานด้านจิตอาสาทั่วโลกหรือในประเทศอาเซียนนั้น จะเห็นได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ทำงานตรงนี้ ดังนั้นการที่เราเปิดประเทศอาเซียนอาจจะทำให้เราได้มีโอกาสพบกับคนที่ทำงานเพื่อสังคมด้วยกันจากต่างประเทศมากขึ้น เราอาจจะได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมด้วยกัน และการทำงานเพื่อสังคมของเราอาจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและส่งผลให้สังคมให้น่าอยู่มากเพิ่มขึ้นอีกด้วย


5.อยากพัฒนาอะไรให้กับจิตอาสาไทยบ้าง ?
จากการทำงานตรงนี้ทำให้เราเห็นว่ามีหลากหลายองค์กรมากมายที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการทำงานด้านจิตอาสา ยกตัวอย่างเช่น ชมรมฝ่ายบำเพ็ญประโยชน์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เราอยากจะเห็นการทำงานของค่ายที่เกี่ยวกับจิตอาสาต่างๆ เป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมจริงๆ ไม่ใช่เป็นการทำค่ายเพื่อสนองความต้องการของตนเอง ชุมชนหรือโรงเรียนที่เราเข้าไปช่วยเหลือต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด ไม่อยากให้คนที่มาทำงานจิตอาสาตรงนี้คิดว่า ค่ายอาสาคือที่ท่องเที่ยวราคาถูก แต่มันคือแหล่งสะสมประสบการณ์และการแบ่งปันสิ่งดีๆคืนสู่สังคม



No comments:

Post a Comment